home about us service property for sale news firm achievement contact
 

   บริษัท สีลม แอดไวซอรี่ เซอร์วิส จำกัด (บริษัท) ได้ตระหนักถึงความสำคัญของหลักเกณฑ์ และแนวทางปฏิบัติงานที่รัดกุม และเชื่อถือได้ของการเป็นผู้ทำแผน บริษัทฯ ได้กำหนดหลักเกณฑ์และแนวทางการปฏิบัติงานไว้ดังนี้

1.1 บริษัทจะดำเนินการติดต่อลูกค้า โดยแรกเริ่มบริษัทฯ จะใช้รายชื่อของฐานลูกค้าเดิมเป็นหลัก เพื่อขอแนะนำบริษัทฯ และสอบถามถึงสถานะ และความต้องการของลูกค้าในปัจจุบัน ซึ่งหากลูกค้าต้องการความช่วยเหลือที่ตรงกับขอบข่ายการให้บริการของบริษัทแล้ว บริษัทจึงจะนำข้อมูลของลูกค้ามาศึกษาเพื่อนำเสนอในขั้นตอนต่อไป

1.2 เมื่อบริษัทได้รับข้อมูลเบื้องต้นมาศึกษาและวิเคราะห์ ในการรวบรวมข้อมูลดังกล่าว จะจัดทำข้อมูลของลูกหนี้ให้เป็นระบบ( System ) เช่น ข้อมูลจากงบการเงิน รายงานประจำปี การจัดทำรายงานตรวจสอบทรัพย์สินและหนี้สิน (Due Diligence) บทสัมภาษณ์ผู้บริหาร การจัดทำแผนธุรกิจ (Business Plan ) รายงานการประเมินราคา และข้อมูลอื่น ๆ เพื่อนำเสนอบริการที่เหมาะสมต่อความต้องการของลูกค้า ไม่ว่า จะเป็นการปรับปรุงโครงสร้างกิจการ ด้วยการขอฟื้นฟูกิจการ หรือ ด้วยวิธีการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ ที่ต้องขอฟื้นฟูกิจการต่อศาลหรือไม่ก็ตาม ทั้งนี้ ในการนำเสนอดังกล่าวจะต้องสอดคล้องกับข้อบังคับ และกฎหมายต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง

1.3 ภายหลังจากศึกษาและวิเคราะห์ข้อมูลดังกล่าวแล้ว จึงจะนำเสนอแผนปรับปรุงโครงสร้างกิจการ หรือ แผนปรับปรุงโครงสร้างหนี้ เพื่อให้ลูกค้าพิจารณา โดยแผนดังกล่าวจะมีแนวทางของแผนที่มีนัยสำคัญ ดังนี้

    ก. ในการจัดทำแผนดังกล่าว จะจัดให้ภาระหนี้ที่มีลักษณะเดียวกัน ประเภทเดียวกัน และมีลักษณะของหนี้ในกลุ่มเดียวกัน
ให้เป็นหนี้ในกลุ่มเดียวกัน โดยแบ่งแยกให้ชัดเจน และสามารถอธิบายได้ นอกจากนี้ ต้องเป็นไปตามที่กฎหมายกำหนดด้วย

    ข. ในการจัดทำแผนดังกล่าว หนี้ที่ถูกจัดแบ่ง หากเป็นหนี้ในกลุ่มเดียวกันต้องได้รับการชำระหนี้อย่างเท่าเทียมกัน นอกจากนี้หนี้ในแต่ละกลุ่มจะต้องมีแผนการชำระหนี้ที่เป็นธรรม โดยคำนึงถึงหลักประกัน และความสามารถชำระหนี้ของลูกหนี้

1.4 เมื่อลูกค้าเห็นพ้องกับแนวทางเบื้องต้นดังกล่าวแล้ว บริษัทจะเสนอสัญญาการให้บริการ ให้ลูกค้าลงนามยินยอมต่อไป

2.1 การปฏิบัติงาน และการดำเนินงาน

ก. กำหนดแผนการและระยะเวลาในการดำเนินโครงการอย่างละเอียด รวมถึงระบุบุคคลที่รับผิดชอบในแต่ละขั้นตอนอย่างละเอียด ทั้งนี้ เพื่อความสะดวกในการดำเนินงาน และการควบคุมการปฏิบัติงาน

ข. ดำเนินงานรวบรวมข้อมูลของลูกค้าเพิ่มเติม เพื่อจัดเตรียมเอกสารต่าง ๆ เช่น รายละเอียดข้อมูลของบริษัทโดยละเอียด การเตรียมเอกสารด้านกฎหมาย เพื่อใช้ในการยื่นขอฟื้นฟูกิจการ เป็นต้น โดยใช้เอกสารทางกฎหมาย เอกสารสำคัญทางการค้า หลักฐานแห่งหนี้ งบการเงิน หรือ สิ่งตีพิมพ์อื่น ๆ เป็นฐานข้อมูลดิบในการดำเนินงาน และเมื่อดำเนินการจัดเตรียมเอกสารเรียบร้อยแล้ว จึงนำเอกสารดังกล่าวให้ลูกค้าตรวจสอบอีกครั้งหนึ่ง และบริษัทจะเก็บสำเนาหนึ่งชุดไว้เป็นเอกสารสำคัญเพื่อการอ้างอิงในอนาคตต่อไป

ค. ทำหน้าที่เป็นตัวกลางในการประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักฟื้นฟูกิจการ ศาลล้มละลายกลาง สำนักงานกฎหมายผู้ว่าคดี สำนักงานผู้ตรวจสอบบัญชี ที่ปรึกษาทางการเงิน สถาบันการเงินในประเทศ และต่างประเทศ เป็นต้น

2.2 การควบคุมและดูแลการปฏิบัติงาน

ก. ตรวจสอบการดำเนินงานกับแผนงานที่กำหนดไว้ข้างต้นอย่างสม่ำเสมอ

ข. ตรวจสอบความถูกต้อง ครบถ้วน และเพียงพอของข้อมูลให้สอดคล้องกับรายละเอียดตามแบบฟอร์มที่กำหนดโดยสำนักฟื้นฟูกิจการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์ และตลาดหลักทรัพย์ และตลาดหลักทรัพย์ และ / หรือ ความต้องการของผู้ใช้ข้อมูล

ค. จัดเก็บข้อมูลและการบันทึกต่าง ๆ ให้เป็นระเบียบเพื่อสะดวกในการตรวจสอบข้อมูลในภายหลัง

2.3 วิธีการตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูล

ในการจัดทำแผนฟื้นฟู เพื่อปรับโครงสร้างกิจการ และปรับปรุงโครงสร้างหนี้ของลูกค้า บริษัทฯ ได้กำหนดแนวทางในการตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลไว้ดังนี้

ก. ตรวจสอบกับเอกสารอ้างอิง ประกอบด้วย เอกสารทางกฎหมาย เช่น หนังสือรับรอง หนังสือบริคณห์สนธิและข้อบังคับ บัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้น ใบอนุญาตประกอบกิจการ บัตรส่งเสริมการลงทุน ใบอนุญาตประกอบโรงงาน ใบรับรองมาตรฐานอุตสาหกรรมต่าง ๆ และเอกสารที่เกี่ยวข้อง

  • งบการเงินที่ผ่านการตรวจสอบโดยผู้ตรวจสอบบัญชีอย่างน้อย 3 ปี ย้อนหลัง และงบการเงินงวดล่าสุด
  • ผลการตรวจสอบสถานะกิจการ ซึ่งกระทำการโดยผู้ตรวจสอบบัญชีที่น่าเชื่อถือได้
  • สัญญาสำคัญต่าง ๆ เช่น สัญญาสัมปทาน สัญญาซื้อขายสินค้า สัญญาเช่าโรงงาน หรือ อาคาร สัญญาซื้อขายวัตถุดิบ สัญญากู้ยืมเงิน เป็นต้น
  • เอกสารที่ใช้ในการดำเนินงาน เช่น ใบเรียกเก็บเงิน ใบสั่งซื้อสินค้า เป็นต้น
  • เอกสารที่เผยแพร่ทั่วไป เช่น บทวิเคราะห์ รายงาน หรือข่าว

ข. สัมภาษณ์ผู้บริหารระดับสูง เพื่อรับทราบถึงนโยบายและแผนการดำเนินงานของบริษัทฯ และผู้บริหารระดับฝ่ายงานต่าง ๆ เช่น ฝ่ายการตลาด ฝ่ายการผลิต ฝ่ายบุคลากร ฝ่ายบัญชีและการเงิน ตลอดจนสัมภาษณ์ผู้เกี่ยวข้อง เช่น ผู้ตรวจสอบบัญชี , ผู้ตรวจสอบบัญชีที่ดำเนินการตรวจสอบสถานะทางการเงินของบริษัท , ที่ปรึกษากฎหมาย เป็นต้น

ค. ตรวจทานข้อมูลโดยผู้บริหารก่อนนำเสนอแก่บุคคลภายนอก
   
เพื่อป้องกันความขัดแย้งทางผลประโยชน์ คณะกรรมการบริษัทได้กำหนดคำสั่งเพื่อถือปฏิบัติในการห้ามมิให้ กรรมการ ผู้บริหาร พนักงาน ลูกจ้าง รวมทั้งคู่สมรส และบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะของบุคคลดังกล่าว ใช้ข้อมูลภายในของบริษัท ลูกค้า ที่มีสาระสำคัญ และยังมิได้เปิดเผยต่อสาธารณชน เพื่อประโยชน์ของตนเอง หรือ ผู้อื่น
   
เพื่อป้องกันการแสวงหาผลประโยชน์จากการใช้ข้อมูลภายในของลูกค้า ซึ่งยังไม่ได้เปิดเผยต่อสาธารณชน และส่งผลกระทบต่อการเคลื่อนไหวของราคาซื้อขายหลักทรัพย์ของบริษัทฯ ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และบริษัทดังกล่าวเป็นลูกค้าของบริษัทแล้ว บริษัทฯ ได้ออกคำสั่งห้ามมิให้ กรรมการ ผู้บริหาร พนักงาน และลูกจ้าง รวมทั้งคู่สมรส และบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะของบุคคลดังกล่าว ใช้ข้อมูลภายใน ซึ่งยังมิได้เปิดเผย เพื่อทำการซื้อขาย โอน หรือ รับโอนหลักทรัพย์ของบริษัทฯ ลูกค้า ก่อนที่ข้อมูลนั้นจะเปิดเผยต่อสาธารณชน
 

Home
| About us | Service | Property for sale | News | Firm Achievement | Contact us

Silom Asvisory Services Co.,Ltd. Copyright © 2011